วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2559

สภาวะเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์


สภาวะเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์








          เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในปี 2553-2558 ขยายตัวเฉลี่ยถึง 6.2% ต่อปี สวนทางกับเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง ขณะที่ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ฟิลิปปินส์จะกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในเอเชีย ด้วยอัตราขยายตัวเฉลี่ย 6.5% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า จึงมีการคาดกันว่าฟิลิปปินส์จะเป็นเสมือน "มหัศจรรย์แห่งเอเชีย" (The Next Asian Miracle) ในระยะข้างหน้า ทำให้ฟิลิปปินส์กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังจากที่ถูกขนานนามว่าเป็นผู้ป่วยของเอเชียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

          ทั้งนี้ เศรษฐกิจฟิลิปปินส์มีจุดเด่นและศักยภาพหลายด้านที่จะเกื้อหนุนการขยายตัวของ เศรษฐกิจให้กลายมาเป็นคลื่นลูกใหม่ของเอเชีย ได้แก่ 

1) มีการปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง ประธานาธิบดี เบนิกโน อากีโน ให้ความสำคัญอย่างมากกับการปราบปรามคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นรากเหง้าของหลายปัญหาในฟิลิปปินส์มาอย่างยาวนาน ส่งผลให้ผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นโดยองค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ล่าสุดในปี 2557 พบว่าฟิลิปปินส์อยู่อันดับ 85 ขยับขึ้นมากว่า 60 อันดับภายในเวลา 7 ปี จากที่เคยอยู่ในอันดับ 141 ในปี 2551 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของฟิลิปปินส์ ซึ่งจัดอันดับโดย World Economic Forum (WEF) เพิ่มขึ้นจากอันดับ 87 ในปี 2551 มาอยู่ที่อันดับ 47 ของโลกในปัจจุบัน

2) ประชากรมีคุณภาพ นอกจากฟิลิปปินส์มีประชากรมากถึงกว่า 102 ล้านคน (อันดับ 12 ของโลก) แล้ว ชาวฟิลิปปินส์ยังมีการศึกษาและสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี สะท้อนจากอัตราการรู้หนังสือ ซึ่งอยู่ที่ 96.3% สูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์และไทย รวมถึงคะแนนสอบ TOEFL ของชาวฟิลิปปินส์เฉลี่ยปี 2557 อยู่ที่ 89 คะแนน จากคะแนนเต็ม 120 คะแนน สูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ คุณภาพของประชากรจึงนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้บรรษัทข้ามชาติเข้าไป ลงทุนในฟิลิปปินส์

3) ภาคบริการมีศักยภาพสูง ฟิลิปปินส์มีศักยภาพในการรับจ้างบริการธุรกิจ (Business Process Outsourcing : BPO) เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากอินเดีย โดยเฉพาะธุรกิจ IT เห็นได้จากบริษัท BPO ระดับโลก อาทิ Ac-centure และ Convergys ล้วนใช้ฟิลิปปินส์เป็นศูนย์กลางการให้บริการ ทำให้คาดว่าธุรกิจ BPO จะสร้างรายได้กว่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2559 หรือคิดเป็น 8% ต่อ GDP

4) เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เติบโตสูง โดยในปี 2557 ขยายตัว 65% จากปี 2556 สูงสุดในอาเซียน เนื่องจากมีปัจจัยดึงดูดจากตลาดขนาดใหญ่ ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ แรงงานทักษะมีราคาถูก ทำให้ในระยะถัดไป ภาคการผลิตของฟิลิปปินส์มีแนวโน้มจะเติบโตเข้ามาสนับสนุนภาคบริการอีกแรง หนึ่ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งมีนักลงทุนต่างชาติขยายฐานการผลิตเข้ามามากขึ้น อาทิ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์

5) เสถียรภาพการเงินการคลังดี โดยดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2557 เกินดุลกว่า 4% ต่อ GDP และมีการขาดดุลการคลังต่ำที่ 0.6% ต่อ GDP ประกอบกับหนี้สาธารณะต่ำที่ 45% ต่อ GDP ทำให้เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบจากกระแสเงินทุนไหลออกที่กำลังเกิด ขึ้นในปัจจุบันน้อยกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ สะท้อนจากค่าเงินเปโซในปี 2558 ที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นในอาเซียน อาทิ ริงกิตและรูเปียห์ที่ผันผวนสูง

นอกจากนี้ การที่ฟิลิปปินส์มีหนี้ครัวเรือนต่ำเพียง 6% ต่อ GDP ทำให้ยังมีช่องว่างในการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป

หากมองในแง่การส่งออกของไทย ฟิลิปปินส์กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยการส่งออกของไทยไปฟิลิปปินส์ เดือน ต.ค. 2558 ขยายตัวถึง 15.8% สูงสุดในตลาดอาเซียนทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนการส่งออกของไทยไปฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นจาก 1.8% ในปี 2548 มาอยู่ที่ 3.9% ในเดือน ต.ค. 2558 กลายเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของไทยในอาเซียน แซงหน้าสิงคโปร์และอินโดนีเซียแล้ว อีกทั้งหากมองในแง่สินค้า พบว่าฟิลิปปินส์ได้กลายเป็นตลาดส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบอันดับ 2 ของไทย รองจากออสเตรเลีย

นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศฟิลิปปินส์ที่เติบโตอย่างโดดเด่นได้ส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกของไทยอีกหลายรายการให้ขยายตัว

สวนทางกับการส่งออกไปตลาดโลก อาทิ ข้าว เครื่องดื่ม เครื่องจักรกล รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ปัจจัยดังกล่าวสะท้อนว่าฟิลิปปินส์เป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีศักยภาพและไม่ควร มองข้ามในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง

ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในภาพรวมจะมีแนวโน้มที่ดี แต่ก็ยังต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายอยู่หลายประการ อาทิ ความไม่แน่นอนของนโยบายหลังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นกลางปี 2559 การกระจายรายได้ที่ยังไม่ทั่วถึง โครงสร้างพื้นฐานที่ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนา ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นโจทย์ที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจฟิลิปปินส์เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่

ผู้ประกอบการไทยต้องจับตามองอย่างใกล้ ชิด เพื่อแสวงหาโอกาสที่เกิดขึ้นให้ได้ทันท่วงที ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมรับมือกับคู่แข่งทางการค้าการลงทุนจากฟิลิปปินส์ที่ จะแข็งแกร่งขึ้นด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น